วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมการใช้ผ้าในวิถีชีวิตของชาวใต้ตั้งแต่สมัยโบราณ

 
 (ภาพ การแต่งกายในสมัยศรีวิชัย)
 (ภาพ การแต่งกายไปงานแห่ "มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ" วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปี ๒๕๕๖)

ผ้ามีความสำคัญมากกว่าการเป็นเพียงเครื่องนุ่งห่ม ผ้ายังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงฐานะของผู้คนในสังคม ประการสำคัญคือ ผ้าได้ถูกใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามความเชื่อและประเพณีของผู้คนในแต่ละชนเผ่า
วัฒนธรรมการใช้ผ้าในวิถีชีวิตของชาวใต้จำแนกได้ตามกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ ๓ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน  ทั้ง ๓ กลุ่มนี้ต่างก็มีจุดมุ่งหมายการใช้ผ้าทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าในที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ และผ้าที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ในที่นี้จะกล่าวถึงผ้าในวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธทางภาคใต้ของประเทศไทยก่อน เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ของภูมิภาคนี้ (ส่วนกลุ่มชนอื่นๆ ผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป)


ชาวไทยพุทธทางภาคใต้ของไทยมีการแต่งกายที่คล้ายคลึงกับชาวไทยในภาคกลางมาตั้งแต่โบราณจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  คือ ผู้ชายและหญิงมักนุ่งผ้าโจงกระเบน หากเป็นชนชั้นสูงระดับเจ้าเมือง ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีก็ใช้ผ้าทอยกดอก ผ้าไหมพื้น ผ้าไหมยกดอก  ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าปูม ผ้าสมปัก ผ้าม่วง โดยการใช้ผ้าเหล่านี้จะบ่งบอกถึงฐานะศักดิ์ของตนเองอีกด้วย แต่ผ้านุ่งยกทองจะนุ่งได้ก็เฉพาะเจ้านายและขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้น  ส่วนผ้าที่ซื้อหากันที่เป็นผ้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่ ผ้าลายอย่าง ผ้าลายนอกอย่าง ผ้าแพร โดยเฉพาะผ้าแพรเป็นผ้าจากจีนมีทั้งชนิดมีสีพื้นและชนิดมีลายในตัว เช่น ลายดอกพุดตาน และที่นำมาปักลายด้วยไหมเป็นลายดอกไม้ ซึ่งนำมาใช้เป็นผ้าสไบของชายและหญิง ใช้เป็นผ้าห่ม ส่วนผ้าพิมพ์ลายที่ใช้กันในหมู่ชาวภาคใต้นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คาดว่าคงใช้กันในพวกขุนนางและคหบดี สนนราคาขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อผ้าและสีสันลวดลาย ยกเว้นผ้าเขียนลายทองเท่านั้นที่ใช้ได้เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าเท่านั้น
การนุ่งห่มผ้าของผู้ชายมักสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้า สีขาว แขนยาว  ติดกระดุม บางทีก็ไม่สวมเสื้อ ส่วนหญิงในชนชั้นสูงมักห่มผ้าพาดเฉียงหรือใช้ผ้าสไบ หรือสวมเสื้อห่มสไบทับเมื่อออกไปงานข้างนอกบ้าน หรือไปวัด หากอยู่ในบ้านมักใช้ผ้าแถบรัดอกไว้

(ภาพ หูก ทอผ้าทางภาคใต้ - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)

วิวัฒนการการใช้ผ้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มมีภาพที่ชัดเจนของการแต่งกายและการใช้ผ้าของชาวภาคใต้ โดยมีหลักฐานชัดเจนจากวรรณกรรมที่ถุกเขียนเอาไว้บ้าง ภาพผนังอุโบสถบ้าง จากเพลงบอก เพลงร้องเรือ เพลงร้องกล่อมเด็ก เป็นต้น จนมามีบันทึกเป็นเอกสารทางราชการจึงปรากฎภาพการแต่งกายของผู้คนในภาคใต้ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงวางระเบียบให้ข้าราชการสวมเสื้อชั้นใน เสื้อนอก มีผ้าผูกคอ นุ่งโจงกระเบน ด้วยผ้าม่วงแทนผ้าสมปัก โปรดให้ใส่รองเท้า ถุงเท้า  สวมหมวก ทั้งทรงดัดแปลงเสื้อราชปะแตนจากเสื้อของพวกฝรั่งหลังจากเสด็จประพาสอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕  โดยเจ้านายสตรีฝ่ายในและบรรดาสตรีในเมืองหลวงก็นิยมใส่เสื้อแขนยาว ชายเสื้อยาวเพียงบั้นเอว ห่มผ้าแพรสไบเฉียงบ่าทับเสื้อ สวมรองเท้าทับถุงเท้าที่หุ้มตลอดน่อง ทรงผมเปลี่ยนจากทรงปีกเป็นทรงดอกกระทุ่ม  และมีการดัดแปลงเสื้อเป็นผ้าลูกไม้ เปลี่ยนจากสไบเฉียงเป็นสไบแพรทับเสื้อ และนุ่งโจงกระเบน เป็นตัวอย่างลักษณะการแต่งกายนุ่งห่มของชาวเมืองหลวง ซึ่งแบบอย่างให้แก่เจ้าเมืองและขุนนางทุกภูมิภาคได้แต่งกายตาม
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เครื่องแต่งกายทั้งเจ้านายและสามัญชนยังคงเป็นตามประเพณีนิยมที่สืบทอดต่อมาจากรัชกาลที่ ๕ และเมื่อเจ้านายและบุตรหลานของขุนนางชั้นสูงเริ่มจบการศึกษาจากประเทศยุโรป  เครื่องแต่งกายจึงเริ่มมีวิวัฒนาการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยจนกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น ได้แก่ ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงและสวมเสื้ออย่างชาวตะวันตก ส่วนผู้หญิงยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบนหรือผ้าจีบหน้านาง ห่มสไบ แต่ใส่เสื้อลูกไม้แขนยาวทรงกระบอก หรือทรงขาหมูแฮม และใช้สไบพาดทับอีกชั้น  สำหรับผ้าที่ใช้มีทั้งผ้ายกดิ้น ผ้ายกไหม ผ้าลาย ผ้าลูกไม้และผ้าต่างๆ ที่นำเข้ามาจากตะวันตกกันมากขึ้น


สำหรับข้าราชการมักนุ่งด้วยผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน  สวมรองเท้า บ้างก็มีการสวมกางเกงกันบ้างแล้ว  ส่วนสามัญชนนิยมนุ่งกางเกงแพร หรือนุ่งผ้าม่วง ผ้าพื้นบ้าง อาจสวมรองเท้าหรือไม่สวม ไว้ผมยาวแต่จัดเก็บให้ดูสุภาพ ผู้หญิงเมื่อไม่ได้ออกนอกบ้านก็มักจะนุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาดอกหรือไม่ก็สวมเสื้อ การใช้ผ้าสไบมีน้อยลง ผมทรงดอกกระทุ่ม  จนต่อมาเกิดเป็นพระราชประเพณีนิยมที่มีพระราชประสงค์ให้ “...นุ่งซิ่น ฟันขาว เกล้ามวย...”โดยให้สตรีไว้ผมยาวแล้วเกล้ามวยผม และนุ่งผ้าซิ่นแทนการนุ่งโจงกระเบน ไว้ฟันสีขาว ประกอบกับความนิยมในการกินหมากลดลง  ยังมีการดัดผมและไว้ผมทรงบ๊อบ ซึ่งรับเอาแบบอย่างมาจากชาติตะวันตก และยังมีผมทรงซิงเกิ้ลและทรงอิตันคร้อพ
เสื้อที่สวมเป็นแบบหลวมๆ  แขนสั้นหรือแขนยาว สีขาวหรือลายดอกไม้ นิยมการสวมสายสร้อย อาจมีสร้อยไข่มุกสวมทับหลายเส้นที่คอ และมีผ้าคาดศรีษะ  ซึ่งเป็นการแต่งกายของสตรีชาวเมือง ส่วนสตรีในชนบทก็ยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบเดิม มีผ้าคาดอกหรือผ้าแถบปิดถันทั้งสองไว้ หากมีเสื้อก็เป็นเสื้อคอกลมหรือคอกระเช้า  โดยผู้ชายมักนุ่งกางเกงและสวมเสื้ออย่างชาวตะวันตกกันมากขึ้น

(ภาพ การแต่งกายในขบวน "มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ" วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปี ๒๕๕๖)

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ การแต่งกายยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) จึงได้มีประกาศให้ข้าราชการยกเลิกการนุ่งผ้าม่วง ให้มานุ่งกางเกงตามแบบชาติตะวันตก ส่วนสตรีนิยมสวมเสื้อไม่มีแขน ตัวเสื้อหลวมยาวลงมาพ้นบั้นเอว ซึ่งเป็นผ้าที่นำมาจากชาติตะวันตก  และไว้ผมสั้น ดัดผมลอน
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๘) ได้มีนโยบายสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจอย่างชาติตะวันตก ส่งผลให้มีผลมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกายของคนไทยครั้งใหญ่ เช่น การเลิกกินหมาก บุรุษและสตรีต้องสวมหมวกเมื่อออกนอกบ้าน บุรุษในเมืองสวมเสื้อมีแขน คอเปิดและคอปิด ถ้าอยู่ในชนบทนอกเขตเมืองสวมเสื้อทรงกระบอกแบบไทยมีแขนยาว มีกระเป๋าเสื้อ เป็นเสื้อแบบคอตั้งกลัดกระดุม ๕ เม็ด สวมกางเกงแบบสากล สตรีทั้งในเขตและนอกเขตเมืองต้องสวมเสื้อแบบใดก็ได้แต่ต้องให้ปิดคลุมไหล่ ให้นุ่งผ้าถุง ผ้าซิ่น และกระโปรงแทนการนุ่งโจงกระเบนตามแบบเดิม  ทั้งชายและหญิงต้องสวมรองเท้า จนเมื่อจอมพล ป. หมดอำนาจลง คำสั่งการสมหมวกดังกล่าวจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมอีกต่อไป เช่น การสวมหมวก ยกเว้นแต่เครื่องแต่งกายตามแบบต่างๆ ที่ยังคงได้รับความนิยมและมีการพัฒนารูปแบบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การแต่งกายของผู้คนในภาคใต้ของไทยในยุคสมัยต่างๆ มักจะล้อตามประเพณีนิยมเช่นเดียวกับส่วนกลาง โดยเฉพาะการแต่งกายของเจ้าเมือง ขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ตลอดทั้งภรรยาและบุตรมักแต่งกายตามแบบบุรุษและสตรีในเมืองหลวง โดยการแต่งกายของผู้คนกลุ่มนี้มักเป็นแบบอย่างต่อมาให้แก่ราษฎรในชนบทได้ซื้อหาและทำตาม เช่น บุรุษก็แต่งกายด้วยเครื่องแบบทั้งเสื้อและกางเกงแบบสากลเวลาไปทำงานทำธุระต่างๆ เมื่อเดินทางไปในเมือง ส่วนสตรีก็เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนเมื่อออกนอกนอกบ้าน เปลี่ยนมาสวมเสื้อและนุ่งผ้าถุง หรือสวมกระโปรงตามแบบตะวันตกนิยม

(ภาพ การแต่งกายของหญิงชาวบ้านในขบวน "มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ" วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปี ๒๕๕๖)

การใช้ผ้าในสามัญชนในภาคใต้ทั้งชายและหญิงในยุคสมัยก่อนมักนุ่งผ้าโจงกระเบน ซึ่งทอจากผ้าฝ้ายทอขึ้นเองจากวัสดุในท้องถิ่น ได้แก่ ผ้าทอสีพื้น ผ้าตาตาราง ผ้าเก้ากี่ (ผ้าตาสมุก) แต่ผ้านุ่งมักสกปรกง่ายจึงนิยมใช้เป็นผ้าย้อมสีดำ ผู้ชายทั้งหนุ่มและแก่เมื่ออยู่บ้านมักนุ่งผ้า “เลื้อยชาย” คือการนุ่งผ้าขาวม้าหรือผ้าซักอาบที่ทอขึ้นเองเป็นผ้าผืนยาว เวลานุ่งก็นำชายทั้งสองด้านมาคาดเอวแล้วขมวดรัดที่สะดือ เรียกเป็นภาษาใต้ว่า “เกี่ยวคอไก่” ปล่อยชายผ้าทั้งสองด้าน แต่ไม่นิยมสวมเสื้อเพราะผ้ายังมีราคาแพง แต่ใช้ประโยชน์จากผ้าขาวม้าที่พาดบ่าเพื่อใช้ปัดพัดวีในยามอากาศร้อน เป็นต้น ในเวลาต่อมาคนหนุ่มจนถึงวัยกลางคนมักจะเปลี่ยนมานุ่งผ้าตาตารางสำหรับอยู่กับบ้าน (บางท้องที่ก็เรียกว่า ผ้าตาตะเกียงใหญ่ หรือผ้าลูกหมู หรือผ้าลูกหมูไส้อ่อน) หรือนุ่งเวลาไปทำงานและเดินทาง ซึ่งมีลักษณะคล้ายผ้าโสร่ง  เวลาไปทำบุญหรือเที่ยวงานวัดก็มักนุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ แต่ถ้าหากมีผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือคล้องสะพายเฉียงก็ดูดีมากแล้ว
ส่วนผู้หญิงสามัญชนกลุ่มไทยพุทธในภาคใต้ก็มักจะนุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ  แต่มีผ้ารัดอก ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่ทอขึ้นเองสำหรับพันรอบอก หากเป็นหญิงที่เริ่มโตเป็นสาวจนถึงวัยออกเรือน มักนุ่งผ้าถุง และใช้ผ้าซีกหรือผ้าแถบพาดคล้องคอ เรียกว่า “ฉ้อคอ” มีชายผ้าทั้งสองข้างพาดไขว้กันเพื่อปิดถันทั้งสองข้างไว้แบบชุดตะเบงมาน ด้วยการผูกชายผ้าซีกทั้งสองข้างเป็นเงื่อนที่ต้นคอ  แต่หากไปทำบุญที่วัดก็ใช้วิธีห่มแบบรัดอก มีเข็มกลัดติดผ้ากันไม่ให้ผ้าหลุด และมี “ผ้าคลุมดอง” เป็นผ้าสไบคลุมหลังทั้งผืนเป็นผ้าบางๆ เป็นลายดอกสวยงาม ชายผ้าทั้งสองข้างห้อยข้างหน้าอกหรือข้างแขนทั้งสองข้าง
ส่ำหรับหญิงที่ออกเรือนไปแล้วและผู้ที่มีอายุมากขึ้นมักใช้ผ้ารัดอกพันรอบหน้าอกปิดถันทั้งสองข้าง นิยมใช้เป็นผ้าแพรจากจีน เป็นผ้าชั้นดีหายาก มีราคาแพงขึ้นมา ส่วนหญิงชรานิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าพื้น และไม่สวมเสื้อเมื่ออยู่กับบ้าน ยกเว้นเมื่อไปทำบุญที่วัดหรือเข้าที่ชุมชนมักใช้ผ้ารัดอก จนต่อมาจึงมีวิวัฒนาการของเสื้อแบบต่างๆ เช่น เสื้อคอปาด คอห้าเหลี่ยม คอแหลม คอกลม เสื้อเข้ารูป เสื้อมีจีบมีระบายที่เอว เสื้อปล่อยคลุมสะโพก แขนสั้นหรือแขนยาวตามแต่สะดวก  สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้ผ้าเพื่อความสวยงามมากกว่าเพื่อปกปิดร่างกายเพียงอย่างเดียวกันมากขึ้น ประกอบกับการผลิตผ้าจากวัสดุต่างๆ ที่หาง่ายมีมากขึ้น และอาจมีโรงงานทอผ้าในเมืองไทยมากขึ้นด้วย 
ส่วนผ้านุ่งที่เป็นผ้าถุงก็เป็นผ้ายกที่ทอกันได้เองในท้องถิ่นก็ทำให้มีการใช้ผ้าหลากหลายกันมากขึ้นตามแต่ละ เช่น ผ้าทอเกาะยอ ผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้ายกเมืองนคร ทั้งลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายดอกพิกุล ลายตาสมุก ลายหางกระรอก เป็นต้น  ในเวลาต่อมาก็มี “ผ้าปาเต๊ะ” เข้ามาขายอย่างแพร่หลายจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย หญิงไทยภาคใต้ก็นิยมสวมผ้าดังกล่าวนี้ใช้เป็นผ้านุ่งกันมากขึ้น  แต่หญิงในวัยชรายังนิยมใช้ผ้าทอพื้นเมืองที่เป็นผ้าทอลวดลายต่างๆ และผ้าพื้นกันอยู่ บางทีก็ใช้ผ้าพิมพ์ลายไทยที่ได้จากโรงงานทอผ้าจากกรุงเทพฯ สวมกับเสื้อป่านสีขาว หรือผ้าลูกไม้สีขาวคอกลมผ่าหน้าติดกระดุม ๕ เม็ด แขนสามส่วน และมีผ้าสไบเฉียงบ่าเมื่อไปทำบุญตามวัด
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดการใช้ผ้าอีกมากมาย เช่น สีผ้าที่ใช้ระหว่างผ้านุ่งกับเสื้อต้องไม่เป็นสีที่ตัดกัน อาจใช้เสื้อผ้าสีต่างๆ ตามวันเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อตามแบบไทยพุทธ เช่นเดียวกับที่มีผ้ากราบพระ ผ้าพระบฏ ผ้าไหว้ ผ้าตั้ง ผ้าห่อขันหมาก ผ้าขอขมา ไปจนถึงผ้าที่ใช้ในชีวิตประชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าเช็ดปาก ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่อสำหรับห่อสิ่งของมีค่าหรือห่อข้าวของเวลาเดินทาง เป็นต้น ซึ่งผ้าเหล่านี้มักมีลวดลายแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและผสมเข้ากับความเชื่อทางศาสนาร่วมด้วย

(ภาพ ผ้าพระบฏที่ทอขึ้นเองของชาวบ้านมาแห่ร่วมในขบวน "มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ" วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปี ๒๕๕๖)
................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น